ผู้เขียน หัวข้อ: ซ่อมบำรุงอาคาร: ทำไม? ท่อประปาในบ้านจึงรั่ว แตก และมีวิธีรับมืออย่างไร  (อ่าน 285 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 520
  • ลงโฆษณาฟรี ประกาศขายสินค้าออนไลน์ ซื้อขายแลกเปลี่ยน
    • ดูรายละเอียด
เชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอกับปัญหา ” ท่อน้ำในบ้าน/คอนโด รั่ว แตก “ เป็นอีกหนึ่งปัญหาบ้านยอดฮิตของผู้อยู่อาศัยเพราะนอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับตัวบ้านแล้ว ยังทำให้เราต้องจ่ายค่าน้ำที่ไหลทิ้ง รวมถึงค่าไฟจากปั๊มน้ำที่ทำงานอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย ..เรื่องท่อประปานี้ผู้ซื้อบ้านส่วนใหญ่ไม่ค่อยไปสำรวจหรือทำความเข้าใจกับระบบสักเท่าไหร่ เพราะเมื่อซื้อบ้านก็จะมาพร้อมระบบประปาที่พร้อมใช้งานได้ทันที และด้วยเหตุผลที่ว่าถึงท่อประปาจะเสื่อมสภาพแต่มันก็ยังคงจ่ายน้ำได้ ทำให้เราละเลยไม่ค่อยสนใจ ‘ท่อ’ เหล่านี้ ตราบจนกระทั่งมันเริ่มส่งผลต่อน้ำประปาที่ไหลออกมาจากท่อ ทำให้น้ำประปามีลักษณะที่ต่างไปจากเดิมนั่นแหละ คนจึงจะเห็นค่าและหันมาดูแลให้อยู่ในสภาพดี วันนี้ทางทีมงานก็มีวิธีรับมือกับเหล่าปัญหาท่อน้ำ ” รั่ว แตก “ ในจุดต่างๆ มาฝากกัน เพื่อให้เพื่อนๆ ได้รู้ถึงสาเหตุ วิธีการป้องกัน และการแก้ไขปัญหากวนใจในการอยู่อาศัยค่ะ

หลายๆ คนอาจสงสัยว่า..เสียงปั๊มน้ำที่ดังในเวลาที่เราไม่ได้ใช้น้ำภายในบ้าน ไม่ได้กดชักโครก ล้างจาน อาบน้ำ หรือมั่นใจว่าปิดก๊อกน้ำสนิทหมดทุกจุดแล้ว แต่ปั้มน้ำดันทำงาน ตัวเลขในมาตรวัดน้ำเพิ่มอยู่ตลอดเวลา หรือปัญหาน้ำไหลช้าแต่ปั๊มน้ำอัตโนมัติทำงาน อาการเหล่านี้นี่แหละที่เป็นสัญญาณเตือนว่าบ้านเรามี “ท่อน้ำรั่วซึม” หรือมีจุดที่ “ท่อแตกเสียหาย” แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นแค่จุดเล็กๆ แต่ก็ทำให้ไหลต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้บ้านเรามีปริมาณการใช้น้ำที่มากกว่าปกติ

จากการสำรวจการใช้น้ำในอาคารบ้านเรือน พบว่าน้ำที่รั่วช้าๆ  30 หยด ต่อ 1 นาที คิดเป็นปริมาณน้ำที่เสียไปโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่ที่ 3 แกลอนต่อ 1 วัน หรือเท่ากับ คนอาบน้ำ 27 ครั้ง ถ้าเรานับค่าใช้จ่ายของน้ำในแต่ละเดือน เราจะต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปเยอะมาก หากเราช่วยกันสังเกต ดูแล และแก้ไขอยู่เสมอ นอกจากจะช่วยรักษาบ้านให้อยู่ในสภาพดีแล้ว ยังเป็นการช่วยเซฟเงินในกระเป๋าอีกด้วย สำหรับสาเหตุและวิธีป้องกันปัญหาท่อน้ำรั่ว แตก ต่างๆ จะเกิดจากอะไร และต้องแก้ไขอย่างไรบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ

1. สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ “ท่อน้ำรั่วแตก” ได้

1.1 แรงดันภายในท่อประปา : สาเหตุที่ทำให้ท่อน้ำประปาแตกชำรุดอย่างแรกคือแรงกระแทกภายในท่อน้ำเอง ซึ่งแรงภายในท่อน้ำมักเกิดจากแรงดันน้ำกระแทกกลับหรือที่ภาษาช่างเรียกว่า Water Hammer สาเหตุเกิดจากความเร็วของน้ำในเส้นท่อที่ถูกหยุดอย่างฉับพลัน ซึ่งเกิดได้จากหลายเหตุการณ์ ได้แก่

    เมื่อไฟฟ้าดับทำให้เครื่องสูบน้ำหยุดทันที จึงเกิดแรงกระแทกกลับของน้ำในเส้นท่อที่ไหลออกไม่ได้ทำให้ท่อแตก
    การปล่อยให้ถังเก็บน้ำแห้งบ่อยๆ ทำให้อากาศเข้าไปค้างภายในท่อ เมื่อเปิดใช้น้ำตามปกติ น้ำจะวิ่งไปอัดดันท่อระเบิดได้ค่ะ

1.2 แรงกระแทกจากภายนอกท่อน้ำ ​: เนื่องจากงานท่อน้ำเป็นงานระบบที่เรามักจะซ่อนเอาไว้ในผนัง, ใต้ฝ้าเพดาน หรือตามทางเดิน ทำให้สภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ท่อน้ำได้ ส่วนใหญ่เรามักจะเจอท่อน้ำแตกจากสาเหตุต่างๆ เหล่านี้ ได้แก่

-    การฝังท่อน้ำประปาใต้ดินถูกกดทับจากแรงกระแทกของรถยนต์ที่วิ่งผ่านท่อด้านบน หรือ ดินที่ใช้กลบท่อน้ำยืดหดตัวก็สามารถไปดันให้ท่อน้ำแตกได้
-    โครงสร้างบ้านทรุดตัวในบริเวณที่เดินท่อน้ำ ก็อาจส่งผลให้ท่อน้ำหัก งอ จนเกิดการรั่วแตกได้
-    การติดตั้งขาแขวน (Pipe Hangers) ห่างเกินไปและไม่รัดท่อกับขาแขวนให้มั่นคง เมื่อเกิดแรงดันในท่อน้ำ ท่อน้ำก็จะขยับหรือส่ายตัว ทำให้ข้อต่อคลายตัวหรือกระแทกกับท่อทีละนิด จนเกิดการรั่วซึม

1.3 งานติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน : ความชำนาญของช่างเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ ถ้าได้ช่างที่ไม่ได้มาตรฐานมักทำให้งานมีปัญหาหลังจากที่ใช้งานไปได้ระยะหนึ่ง ที่พบมากคือ น้ำรั่วบริเวณข้อต่อต่างๆ เนื่องจากการต่อท่อไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ทดสอบแรงดันน้ำในเส้นท่อก่อน ก็ส่งผลให้เกิดปัญหาในภายหลัง อีกทั้งขั้นตอนในการต่อท่อก็ต้องทำให้เรียบร้อย เลือกช่างที่ไว้ใจได้สักหน่อย แล้วอย่าไปเร่งงานช่างมากนัก เพื่อที่จะได้งานระบบประปาที่มีคุณภาพ ใช้ไปได้นานๆ ค่ะ


2. วิธีตรวจสอบท่อน้ำรั่วในบ้าน

เพื่อนๆ คงพอจะเข้าใจสาเหตุของปัญหาท่อน้ำรั่วหรือแตกกันแล้ว ต่อไปก็คอยหมั่นสังเกตและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่จะส่งผลกับท่อน้ำได้นะคะ  แต่หากใครเริ่มมีความสงสัยว่าท่อน้ำในบ้านของตัวเองรั่วหรือเปล่า เราก็มีวิธีตรวจสอบมาฝากกันค่ะ

2.1 ขั้นแรก : ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าจุดที่น้ำประปารั่วเป็นท่อประปา ไม่ใช่จากพวกอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต่อกับท่อน้ำ เช่น พวกก๊อกน้ำ, โถสุขภัณฑ์ และข้อต่อของสายฝักบัวต่างๆ ซึ่งมักจะมีจุดที่เกิดปัญหา ดังนี้

ก๊อกน้ำ : ให้ตรวจสอบหาจุดรั่วซึมบริเวณก๊อกน้ำ เริ่มจากดูทุกก๊อกว่าปิดสนิทหรือไม่ มีน้ำซึมออกมาตามข้อต่อหรือเปล่า

โถสุขภัณฑ์ : หากโถสุขภัณฑ์มีน้ำไหลตลอดเวลา หลักๆ ควรตรวจสอบอุปกรณ์ลูกลอย ฟลัชวาล์ว และแหวนยางว่าเสียหรือเปล่า?

   
ลูกลอย ตรวจสอบว่ามีอยู่ในระดับปกติหรือไม่

    หากลูกลอยอยู่สูงกว่าปกติ คืออยู่สูงกว่าระดับน้ำล้นในโถกักเก็บน้ำ แสดงว่าน็อตบางตัวหลวมหรือคลายตัว ให้แก้โดยปรับลูกลอยให้ต่ำลงและทำการขันน็อตให้แน่น
    หากลูกลอยลดระดับลงต่ำผิดปกติ หรือลูกลอยจมน้ำ ให้ถอดลูกลอยออกมาดูว่าเกิดรอยรั่วหรือการแตกร้าวหรือไม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้น้ำซึมเข้าไปในลูกลอย ทำให้น้ำไหลออกทางรูน้ำล้นลงโถสุขภัณฑ์ตลอดเวลา ซึ่งควรแก้ไขโดยขันสกรูเอาลูกลอยออกแล้วเปลี่ยนอันใหม่แทน
    หากระดับลูกลอยปกติ ให้ลองยกลูกลอยขึ้นสุด หากน้ำยังคงไหลอยู่ แสดงว่าลูกลอยเสีย ให้เปลี่ยนลูกลอยใหม่

ฟลัชวาล์ว ปัญหาการรั่วซึมของฟลัชวาล์ว อาจเนื่องจาก เศษสิ่งเเปลกปลอมติดค้าง อยู่ภายในชุดวาล์ว ให้ทำการถอดล้างทำความสะอาด

ลูกกบ ทำหน้าที่เปิดปิดรูปล่อยน้ำให้ไหลลงสุขภัณฑ์ วิธีสังเกตคือดูว่าอาจเพราะมีวัตถุบางอย่างติดค้างทำให้ปิดไม่สนิทจนน้ำไหลทิ้ง แก้โดยเอาวัตถุนั้นออกหรือเช็ดทำความสะอาด หากไม่มีวัตถุผิดสังเกตที่ว่า ให้ดูว่าโซ่หรือเชือกที่ดึงเพื่อเปิดปิดน้ำนั้นตึงเกินไปจนทำให้ลูกกบเปิดค้างไว้หรือไม่ แก้โดยปรับสายให้พอดี ไม่ให้ตึงหรือหย่อนเกินไป หากลูกกบชำรุดหรือฉีกขาดต้องทำการเปลี่ยนใหม่ทันที สำหรับลูกกบใหม่ลองนำมาวางปิดรูปล่อยน้ำก่อน ว่าสามารถปิดรูปล่อยน้ำได้สนิทดีหรือไม่ จึงค่อยยึดเข้ากับโซ่หรือเชือกดึง
   
ยางลูกกบ คือแผ่นยางปิดรูปล่อยน้ำ ทำหน้าที่ซีลหรืออุดร่องระหว่างลูกกบและช่องเปิดปิดน้ำให้แน่นแนบสนิทมากขึ้น ปัญหาของยางลูกกบมักเกิดจาก มีตะไคร่หรือคราบสกปรกเกาะอยู่ แนะนำให้ถอดออกมาทำความสะอาดและติดตั้งกลับเข้าไปใหม่ หรือยางเสื่อมสภาพหรือชำรุด ไม่ว่าจะเป็นลักษณะภายนอกที่ผิดปกติ บิดเบี้ยว บวม เปื่อย หรือขาด ทำให้ยางปิดไม่สนิทดี แนะนำให้เปลี่ยนแผ่นยางใหม่

ข้อต่อของสุขภัณฑ์ต่างๆ : ให้ตรวจหารอยรั่วซึมของข้อต่อในบริเวณต่างๆ โดยการทดสอบปิดวาล์วน้ำในแต่ละจุด ถ้าไม่พบรอยรั่วในวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ก็เพิ่มความมั่นใจโดยการปิดก๊อกและวาล์วที่สุขภัณฑ์ทุกจุดแล้วตรวจเช็คที่มิเตอร์น้ำ หากพบว่ามิเตอร์น้ำยังหมุนอยู่ก็แน่ใจได้แล้วว่ามีท่อประปารั่วอย่างแน่นอน

2.2 ขั้นที่สอง : เมื่อแน่ใจแล้วว่าเกิดการรั่วที่ท่อน้ำก็ต้องเข้าสู่ขั้นตอนที่ยุ่งยากที่สุดในการซ่อมท่อรั่ว คือขั้นตอนหาตำแหน่งของท่อหรือข้อต่อที่น้ำนั้นรั่วซึมออกมา โดยหากทราบถึงตำแหน่งที่แน่นอน ช่างก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทุบหรือเจาะผนังเป็นบริเวณกว้าง สามารถเจาะเฉพาะในจุดที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น การหาจุดรั่วก็มีความยากอยู่ตรงที่ลักษณะการเดินท่อประปาที่ส่วนใหญ่จะเดินแบบฝังผนัง เราจึงไม่สามารถเห็นท่อได้ตรงๆ วิธีการคือให้ลองตรวจสอบร่องรอยน้ำซึม คราบน้ำตามพื้น ผนัง และฝ้าเพดาน รวมถึงตรวจดูตามข้อต่อของท่อ ซึ่งมักจะเป็นจุดที่รั่วได้ง่าย นอกจากนี้หากบ้านมีการต่อเติม เช่นต่อเติมครัว แล้วมีการเดินท่อประปาไปยังส่วนต่อเติม ให้ลองตรวจสอบท่อบริเวณรอยต่อของบ้าน เนื่องจากหากส่วนต่อเติมทรุดไม่เท่ากับบ้านก็อาจส่งผลให้ท่อบริเวณรอยต่อของบ้านเสียหายจนรั่วได้

2.3 ขั้นสุดท้าย คือไล่ดูท่อประปาตามการแยกสาขาของท่อ โดยปิดวาล์วเช็คทีละส่วน เช่น ปิดวาล์วที่จ่ายน้ำชั้นบนก่อน หากมิเตอร์น้ำยังหมุนอยู่ ให้ลองสลับปิดวาล์วที่จ่ายน้ำชั้นล่าง หากมิเตอร์หยุดหมุนแสดงว่าจุดที่รั่วอยู่ภายในชั้นล่างของบ้าน และหากชั้นล่างมีวาล์วแยกอีก เช่น ในบ้านกับนอกบ้าน ก็ให้ลองสลับปิดวาล์วทีละส่วน ก็จะช่วยจำกัดวงของจุดที่น้ำรั่วได้แคบขึ้น

สำหรับส่วนของท่อประปาที่อยู่ใต้ดิน และท่อประปาที่อยู่ในพื้นหรือผนัง จะเป็นส่วนที่ยากที่สุดในการหาจุดรั่ว ซึ่งอาจจะต้องเรียกช่างผู้ชำนาญการ หรือเจ้าหน้าที่จากการประปาที่มีเครื่องมือในการตรวจสอบให้มาช่วยตรวจหาจุดรั่ว โดยเมื่อพบจุดรั่วแล้วการซ่อมแซมอาจทำได้โดยตัดต่อท่อใหม่ หรือปะซ่อมแซมรูรั่ว ซึ่งหากจุดรั่วอยู่ในพื้นหรือผนังก็จำเป็นที่จะต้องทุบพื้นหรือผนังเพื่อซ่อมท่อ หรือหากไม่ต้องการทุบก็อาจจะทำการเดินท่อระบบใหม่แยกแล้วเชื่อมต่อเข้ากับท่อเก่าในส่วนที่ไม่รั่วก็ได้


3. สรุปจุดที่ท่อน้ำรั่วบ่อยๆ และวิธีการแก้ไข

ท่อน้ำเหนือฝ้าเพดานรั่วซึม ในเบื้องต้นสามารถสังเกตได้จากคราบเปื้อนเป็นวงๆ จากน้ำซึมบริเวณฝ้า จนฝ้าบวมน้ำ เมื่อฝ้าแบกรับน้ำหนักของน้ำไม่ไหวก็จะพังลงมา ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับฝ้าที่มีห้องน้ำอยู่ด้านบน

–> การแก้ไขในเบื้องต้น ให้ทำการเปิดฝ้าในส่วนที่เป็นคราบน้ำก่อนเพื่อทำการสังเกต สำรวจและเอาฝ้าในบริเวณที่เปียกชื้นออกให้หมด ซ่อมท่อ ตัดข้อต่อ ส่วนที่รั่วออกแล้วเปลี่ยนใหม่ ยึดขาแขวนเพิ่มเติมให้แน่นหนา จากนั้นอย่าเพิ่งปิดฝ้าให้ทดสอบปล่อยน้ำเข้าเส้นท่อสัก 2-3 วัน ดูจนแน่ใจว่าไม่มีน้ำหยดออกมา จึงซ่อมแซมฝ้าเพดานที่เปิดออกและทาสีให้เรียบร้อยดังเดิม

ท่อน้ำในผนังรั่วซึม ท่อน้ำในผนัง ได้แก่ ท่อที่จ่ายน้ำไปยังอุปกรณ์ต่างๆ เช่น อ่างล้างหน้า ฝักบัว ชักโครก ก๊อกน้ำทั่วไป ฯลฯ การหาจุดรั่วซึมของท่อน้ำที่ฝังอยู่ในผนังสามารถสังเกตได้ง่ายจากจุดที่สีทาผนังมีการปูดบวมหรือลอกร่อน ชื้น หรือขึ้นราดำเป็นทางหรือเป็นเส้นตรงไปตามแนวท่อ แต่ผนังในห้องน้ำอาจดูยาก เพราะส่วนใหญ่จะปูกระเบื้องทับหน้าไว้ น้ำที่ไหลซึมก็มักซ่อนตัวอยู่หลังแผ่นกระเบื้องแล้วไหลรวมตัวกันสู่กระเบื้องแถวล่างๆ หรือพื้น ทำให้ประเมินได้ยากว่ารอยรั่วนั้นเริ่มจากตรงไหน เว้นแต่ต้องเลาะกระเบื้องออกเป็นพื้นที่กว้างจึงจะพบต้นเหตุของปัญหา

–> การแก้ไขในเบื้องต้นหลังจากที่ได้พบรอยซึมน้ำบนผนังแล้วก็ต้องสกัดผิวผนังด้วยค้อนหรือใช้สว่านไฟฟ้าแบบเจาะกระแทก ค่อยๆเจาะ ค่อยๆทำ อย่าให้รุนแรงจนกระทบกระเทือนไปถึงโครงสร้างอาคารเดียวปัญหาจะลุกลามใหญ่โต ถ้าต้องใช้เครื่องตัดไฟเบอร์ช่วยกรีดผนังก็ต้องทำใจว่า ฝุ่นผงปูนจะฟุ้งกระจายไปทั่วทั้งห้อง แต่การทำงานก็จะรวดเร็วกว่าการสกัดและไม่สร้างความสะเทือนแก่ตัวอาคาร เมื่อเปิดผิวปูนออกจนพบจุดรั่วซึมแล้ว ให้ต่อท่อพีวีซีนั้นเสียใหม่ เมื่อซ่อมเสร็จเรียบร้อยก็ทดลองปล่อยน้ำเข้าเส้นท่อสัก 2-3 วันเพื่อให้แน่ใจว่าจุดที่ซ่อมแซมนั้นไม่มีน้ำรั่วซึมออกมาอีก จากนั้นจึงใช้ปูนฉาบประเภทที่ใช้สำหรับงานซ่อมแซมอุดฉาบปิดให้เรียบร้อย ทิ้งให้ผิวปูนแห้งสนิทแล้วจึงซ่อมสีต่อไป

การรั่วซึมแบบหาจุดไม่เจอ ถ้าทำตามวิธีในข้อที่ 2 ทั้งหมดแล้วยังหาจุดรั่วไม่พบ ให้ลองตรวจสอบอีก 2 ตำแหน่งคือ ตำแหน่งท่อจากมิเตอร์ไปยังถังเก็บน้ำ และ ตำแหน่งท่อจากถังเก็บน้ำไปยังตัวบ้าน ซึ่งในบางครั้งท่อเหล่านี้อาจฝังอยู่ใต้ดิน ให้ทดสอบด้วยการปิดวาล์วของท่อน้ำก่อนเข้าถังเก็บน้ำ หากมิเตอร์ยังคงหมุนอยู่ก็แสดงว่าจุดที่รั่วซึมจะต้องอยู่ในท่อจากมิเตอร์ไปยังถังเก็บน้ำ หากไม่หมุนก็อาจเป็นไปได้ที่จุดรั่วซึมอาจจะอยู่ในท่อจากถังเก็บน้ำไปยังตัวบ้าน หากยังหาไม่พบผู้รับเหมาควรแจ้งให้เจ้าของบ้านติดต่อเจ้าหน้าที่ประปา ให้มาทำการตรวจสอบหาตำแหน่งท่อที่รั่วซึม โดยเจ้าหน้าที่ประปาจะมีเครื่องมือสำหรับตรวจสอบท่อน้ำรั่วซึมโดยเฉพาะทำให้สามารถทราบจุดที่เกิดน้ำรั่วซึมได้ จากนั้นจึงค่อยลงมือทำการซ่อมแซมต่อไปค่ะ



ซ่อมบำรุงอาคาร: ทำไม? ท่อประปาในบ้านจึงรั่ว แตก และมีวิธีรับมืออย่างไร อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://snss.co.th/dt_post/technical-services/