หมอออนไลน์: โรคผมร่วงหย่อมไม่ทราบสาเหตุผมร่วงเป็นหย่อมไม่ทราบสาเหตุ หมายถึง อาการผมร่วงซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะที่ มีผมแหว่งเป็นหย่อม ๆ ซึ่งไม่มีสาเหตุชัดเจน คือ ตรวจแล้วไม่พบว่ามีสาเหตุใด ๆ (เช่น โรคเชื้อรา ซิฟิลิส การถอนผม รอยแผลเป็น หรือสาเหตุอื่น ๆ)
แต่มีโรคผมร่วงเป็นหย่อมอยู่ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เรียกว่า โรคผมร่วงหย่อมไม่ทราบสาเหตุ (alopecia areata) เป็นภาวะที่พบได้เป็นครั้งคราว พบมากในวัยหนุ่มสาว พบน้อยในคนอายุเกิน 45 ปีขึ้นไป ทั้งหญิงและชายมีโอกาสเป็นเท่า ๆ กัน ภาวะเครียดทางจิตใจอาจมีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการได้
สาเหตุ
สันนิษฐานว่าเกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (ออโตอิมมูน) คือ ร่างกายมีการสร้างภูมิต้านทานต่อรูขุมขน (hair follicles) ที่หนังศีรษะทำให้ผมหยุดงอก โดยที่ไม่ทราบชัดว่ามีสาเหตุอะไรที่กระตุ้นให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาดังกล่าว สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น กรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม ความเครียดทางจิตใจ
บางรายอาจพบร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น ต่อมไทรอยด์อักเสบจากภูมิต้านตนเอง โรคแอดดิสัน โรคด่างขาว โรคภูมิแพ้ (เช่น ลมพิษ ผื่นคัน หวัดจากการแพ้ หืด) เป็นต้น
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการผมร่วงเฉพาะที่ ทำให้ผมแหว่งหายไปเป็นหย่อม ๆ มีลักษณะกลมหรือรี ขอบเขตชัดเจน ตรงกลางไม่มีเส้นผม แต่จะเห็นรูขน หนังศีรษะในบริเวณนั้นเป็นปกติทุกอย่าง ไม่แดง ไม่เจ็บ ไม่คัน ไม่เป็นเกล็ด หรือเป็นขุย ในระยะแรกจะพบเส้นผมหักโคนเรียงอยู่บริเวณขอบ ๆ บางรายอาจพบเส้นผมสีขาวขึ้นในบริเวณนั้น
ผู้ป่วยอาจมีผมร่วงเพียง 1-2 หย่อม จนถึงมากกว่า 10 หย่อม
ถ้าเป็นมาก อาจลุกลามจนทั่วศีรษะ จนไม่มีเส้นผมเหลืออยู่แล้วแม้แต่เส้นเดียว บางรายอาจมีอาการขนตาและขนคิ้วร่วงร่วมด้วย เรียกว่า ผมร่วงทั่วศีรษะ (alopecia totalis)
ผู้ป่วยส่วนมากจะหายได้เองตามธรรมชาติ แต่อาจกินเวลาเป็นปีกว่าจะหาย (ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วยหายภายใน 1 ปี ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีผมขึ้นภายใน 5 ปี) บางรายเมื่อหายแล้วอาจกำเริบได้ใหม่ เป็น ๆ หาย ๆ บ่อยครั้ง ประมาณร้อยละ 40 ของผู้ป่วยจะกำเริบซ้ำอีกภายใน 5 ปี หรือไม่อาจมีคนอื่น ๆ ในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย (โดยที่ไม่ได้เป็นโรคติดต่อแต่อย่างใด)
ในรายที่พบร่วมกับโรคอื่น ๆ (เช่น ต่อมไทรอยด์อักเสบจากภูมิต้านตนเอง โรคแอดดิสัน โรคด่างขาว โรคภูมิแพ้ เป็นต้น) ก็จะมีอาการของโรคเหล่านี้ร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ยกเว้นในรายที่มีโรคอื่นร่วมด้วย (เช่น ต่อมไทรอยด์อักเสบจากภูมิต้านตนเอง โรคแอดดิสัน โรคด่างขาว โรคภูมิแพ้ เป็นต้น) ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเหล่านี้ตามมาได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ สิ่งตรวจพบ และการตรวจพิเศษ เช่น การตรวจเลือด การขูดหรือตัดชิ้นเนื้อของหนังศีรษะไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
ถ้าเป็นโรคผมร่วงหย่อมไม่ทราบสาเหตุ ก็ให้ใช้ครีมสเตียรอยด์ เช่น ครีมไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์ หรือครีมบีตาเมทาโซนชนิด 0.1% หรือทาด้วยขี้ผึ้งแอนทราลิน (anthralin) ชนิด 0.5% วันละครั้ง ถ้าไม่ได้ผลใน 1 เดือน ก็อาจฉีดยาสเตียรอยด์ (เช่น ไตรแอมซิโนโลนอะเซโทไนด์) เข้าใต้หนังในบริเวณที่เป็นทุก 2 สัปดาห์
ในรายที่เป็นรุนแรง (ผมร่วงทั้งศีรษะ) อาจต้องให้เพร็ดนิโซโลนชนิดกิน
ยาเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้ผมงอกเร็วขึ้น
การดูแลตนเอง
หากมีอาการผมร่วงเป็นหย่อม ควรปรึกษาแพทย์ และดูแลรักษาตามคำแนะนำของแพทย์
หากต้องการใช้วิธีรักษานอกเหนือจากที่แพทย์แนะนำ ควรปรึกษาแพทย์ให้แน่ใจว่าเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลจริง และไม่สิ้นเปลืองเกินจำเป็น
หากมีอาการผมร่วงมาก หรือรู้สึกแลดูน่าเกลียด ให้ใส่ผมปลอม (วิก) จนกว่าจะหายดี
การป้องกัน
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ
ข้อแนะนำ
1. โรคนี้อาจมีลักษณะคล้ายโรคเชื้อราที่ศีรษะ ซึ่งสามารถตรวจให้แน่ชัด โดยการขูดเอาขุย ๆ ที่หนังศีรษะไปตรวจ ถ้าเป็นโรคเชื้อรา ก็จะพบเชื้อราที่เป็นต้นเหตุ
2. โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ ดังนั้นจึงไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะเกิดการแพร่โรคโดยการสัมผัสใกล้ชิด
3. โรคนี้ส่วนใหญ่จะหายได้เองโดยธรรมชาติ แม้ว่าจะไม่ได้ให้การรักษา
การรักษาทางการแพทย์ด้วยการใช้สเตียรอยด์ทาหรือฉีด มีส่วนช่วยให้หายเร็วขึ้น