ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: โรคเชื้อราในช่องหู (Otomycosis)  (อ่าน 45 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 520
  • ลงโฆษณาฟรี ประกาศขายสินค้าออนไลน์ ซื้อขายแลกเปลี่ยน
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: โรคเชื้อราในช่องหู (Otomycosis)

โรคเชื้อราในช่องหู (หูอักเสบจากเชื้อรา) เป็นโรคหูชั้นนอกอักเสบชนิดหนึ่ง

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อรา ได้แก่ แอสเปอร์จิลลัสไนเจอร์ (Aspergillus niger) และแคนดิดาอัลบิแคนส์ (Candida albicans) มักพบหลังเล่นน้ำ หรือใช้ไม้แคะหูร่วมกับผู้ที่เป็นโรคนี้ (เช่น แคะหูตามร้านตัดผม) และอาจพบในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อในหูเรื้อรังและใช้ยาหยอดหูที่เข้ายาปฏิชีวนะหรือยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ผู้ป่วยที่เป็นโรคเชื้อราตามผิวหนังหรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น

อาการ
มีอาการคันในรูหูมาก อาจมีอาการปวดหูหรือหูอื้อ หรือมีของเหลวไหลออกจากหู


ภาวะแทรกซ้อน

อาจทำให้เกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบ เยื่อแก้วหูทะลุ

ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน เอดส์) การติดเชื้ออาจลุกลามเข้ากระดูกอ่อนในบริเวณหูหรือฐานกะโหลกได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการเมื่อใช้เครื่องส่องหู มักเห็นลักษณะขุย ๆ สีขาว สีดำหรือน้ำตาล ติดอยู่บนผิวหนังในรูหู หูชั้นนอกมีการอักเสบบวมแดง

บางกรณี แพทย์จะนำของเหลวในหูไปตรวจหาเชื้อต้นเหตุ


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดในช่องหู ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำยาโพวิโดนไอโอดีน เช็ดในช่องหูวันละ 3-4 ครั้ง หรือใช้ยาหยอดหูที่เข้ายารักษาโรคเชื้อรา เช่น โคลไตรมาโซล (clotrimazole) หยอดหูครั้งละ 4-5 หยด วันละ 3-4 ครั้ง ถ้ามีการใช้ยาหยอดหูที่เข้ายาปฏิชีวนะหรือยาสเตียรอยด์ ให้หยุดใช้

ในรายที่รักษาด้วยวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล หรือมีการอักเสบรุนแรง แพทย์จะให้กินยาฆ่าเชื้อรา เช่น ไอทราโคนาโซล (itraconazole)

ถ้าไม่ดีขึ้นใน 1 สัปดาห์ หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุ รวมทั้งตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เพราะผู้ป่วยอาจเป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัวอยู่ก่อนก็ได้


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการคันหู ปวดหู มีน้ำเหลืองหรือหนองไหลออกจากหู ควรปรึกษาแพทย์

          เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคเชื้อราในช่องหู ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    งดการลงเล่นน้ำ ดำน้ำ หรือว่ายน้ำในสระหรือแม่น้ำลำคลอง
    งดการเดินทางโดยเครื่องบิน
    หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ใด ๆ สวมใส่หู
    เวลาอาบน้ำ ใช้สำลีหรือวัสดุอุดรูหูป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู

       
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษา 2-3 วันแล้วอาการไม่ทุเลา
    มีไข้สูง หรือปวดหูมากขึ้น
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

    หลีกเลี่ยงการแคะหู ด้วยนิ้วมือ ไม้แคะหู ไม้พันสำลี หรือสิ่งอื่น ๆ
    หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำหรือว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด
    เวลาใช้สเปรย์ผมหรือยาย้อมผม ควรใช้สำลีอุดหู เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระคายเคืองหรือการแพ้
    หลังอาบน้ำ สระผม หรือว่ายน้ำ ควรใช้ผ้าเช็ดบริเวณรอบ ๆ ใบหูให้แห้ง และตะแคงหูลงทีละข้างลงด้านล่าง แล้วเคาะที่ศีรษะเบา ๆ เพื่อให้น้ำระบายออกจากหู ป้องกันไม่ให้มีน้ำค้างอยู่ในช่องหู (ไม่ให้ใช้ไม้พันสำลีแยงหูเพื่อซับน้ำ อาจทำให้เกิดแผลถลอกได้)
    ผู้ที่มีหูอักเสบหรือหลังได้รับการผ่าตัดหู ก่อนจะลงเล่นน้ำหรือว่ายน้ำในสระ ควรปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษาว่าสมควรหรือไม่

ข้อแนะนำ

โรคนี้มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ส่วนมากสามารถรักษาให้หายได้ภายใน 5-7 วัน แต่ถ้ามีอาการกำเริบใหม่ เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง หรือพบว่าหูชั้นนอกมีการอักเสบรุนแรง (ปวดหูมาก หนองไหล มีกลิ่นเหม็น หูตึง อาจมีอาการปากเบี้ยว) แพทย์จำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุ เช่น ตรวจเลือดว่าเป็นเบาหวาน หรือโรคเอดส์หรือไม่