ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: โพซาโคนาโซล Posaconazole  (อ่าน 8 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 519
  • ลงโฆษณาฟรี ประกาศขายสินค้าออนไลน์ ซื้อขายแลกเปลี่ยน
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: โพซาโคนาโซล Posaconazole
« เมื่อ: วันที่ 20 พฤศจิกายน 2024, 15:39:24 น. »
หมอออนไลน์: โพซาโคนาโซล Posaconazole

Posaconazole (โพซาโคนาโซล) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคที่เกิดจากเชื้อรา อย่างโรคเชื้อราในปาก และยังใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อราในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำอย่างรุนแรงจากโรคหรือผลข้างเคียงของการรักษา โดยยานี้อาจนำไปใช้รักษาโรคหรือภาวะสุขภาพอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ ยาโพซาโคนาโซลอาจทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นได้ และยังอาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ ดังนั้น จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด


เกี่ยวกับยาโพซาโคนาโซล

กลุ่มยา    ยาต้านเชื้อรา
ประเภทยา    ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ    ใช้รักษาโรคที่เกิดจากเชื้อรา
กลุ่มผู้ป่วย    ผู้ใหญ่ เด็ก
รูปแบบของยา    ยารับประทาน ยาฉีด
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์    Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิด

ความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์
หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์
ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์
คำเตือนในการใช้ยาโพซาโคนาโซล

ยา Posaconazole มีข้อควรระมัดระวัง ดังนี้

    แจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง หากมีประวัติการแพ้ยา ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดนี้หรือยารักษาโรคอื่น ๆ รวมถึงยารักษาโรคจากเชื้อราชนิดอื่น ๆ เช่น โคลไตรมาโซล ฟลูโคนาโซล คีโตโคนาโซล ไมโคนาโซล และโวริโคนาโซล เป็นต้น
    แจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งหากมีประวัติการแพ้อาหาร หรือสารใด ๆ เพราะยาโพซาโคนาโซลอาจมีส่วนผสมของสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้
    แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการรักษาและการผ่าตัดเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อมารับประทานเอง สมุนไพร รวมถึงอาหารเสริมที่ใช้เป็นประจำ โดยเฉพาะยาพิโมไซด์ ควินิดีน ไซโรลิมัส ยาในกลุ่มยาลดคอเลสเตอรอล อย่างยาอะทอร์วาสแตติน โลวาสแตติน ซิมวาสแตติน และยาในกลุ่มเออร์กอต อย่างยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน เออร์โกตามีน ยาขับน้ำ เนื่องจากยาเหล่านี้อาจทำปฏิกิริยากับยาโพซาโคนาโซล ได้
    แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีโรคประจำตัวหรือประวัติการรักษา เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคตับ โรคไต อาการท้องร่วง อาเจียน มีเหงื่อออกมากผิดปกติ รวมทั้งผู้ที่ตนเองหรือคนในครอบครัวมีประวัติคลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วง QT ยาวผิดปกติ เป็นต้น
    ยานี้อาจทำให้เวียนศีรษะ จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะและการทำงานที่ใช้เครื่องจักร นอกจากนี้ ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสารอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดอาการมึนเมา
    การใช้ยานี้ในผู้สูงอายุอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วง QT ยาวผิดปกติมากกว่าคนกลุ่มอื่น
    ยานี้ไม่อนุญาตให้ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี
    ยา Posaconazole ในรูปแบบฉีดเข้าเส้นเลือดดำ การฉีดต้องดำเนินการโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น
    ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายานี้ส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้หรือไม่
    ผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรหยุดการให้นมบุตรในระหว่างการใช้ยาโพซาโคนาโซล และควรปรึกษาแพทย์หากต้องการใช้ยานี้
    ในกรณีได้รับยาเกินขนาดและเกิดอาการ อย่างหัวใจเต้นช้า หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก หรือเป็นลม ให้โทรเรียกหน่วยพยาบาลฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด

ปริมาณการใช้ยาโพซาโคนาโซล

ปริมาณยาที่ใช้ในการรักษานั้นอาจมีความแตกต่างกันไปตามจุดประสงค์การใช้ จึงควรใช้ยาในปริมาณตามที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงผลในทางลบและเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
โรคที่เกิดจากเชื้อรา

ตัวอย่างการใช้ยา Posaconazole เพื่อรักษาการติดเชื้อราในกระแสเลือดในผู้ใหญ่มีดังนี้

    ยาชนิดฉีดเข้าเส้นเลือดดำ วันแรกที่เริ่มใช้ยา ฉีดยาโพซาโคนาโซล 300 มิลลิกรัมเข้าทางหลอดเลือดดำ 2 ครั้ง/วัน ในวันต่อไป ฉีดยา 300 มิลลิกรัมเข้าทางหลอดเลือดดำ 1 ครั้ง/วัน โดยระยะเวลาการรักษาอาจขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำหรือภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ รวมทั้งดุลยพินิจของแพทย์
    ยาชนิดเม็ด วันแรกที่เริ่มใช้ยา รับประทานยาโพซาโคนาโซล 300 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน ในวันต่อไป รับประทานยา 300 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน โดยระยะเวลาการรักษาอาจขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำหรือภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ รวมทั้งดุลยพินิจของแพทย์
    ยาชนิดน้ำ รับประทาน 200 มิลลิกรัม 3 ครั้ง/วัน

ตัวอย่างการใช้ยา Posaconazole เพื่อรักษาการติดเชื้อราในกระแสเลือดในเด็กมีดังนี้

    ยาชนิดเม็ด วันแรกที่เริ่มใช้ยา เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป รับประทานยาโพซาโคนาโซล รูปแบบเม็ด ปริมาณ 300 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน ในวันต่อไป รับประทานยา 1 ครั้ง/วัน โดยระยะเวลาการรักษาอาจขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำหรือภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ รวมทั้งดุลยพินิจของแพทย์
    ยาชนิดน้ำ รับประทาน 200 มิลลิกรัม 3 ครั้ง/วัน


ตัวอย่างการใช้ยา Posaconazole เพื่อรักษาโรคเชื้อราในปาก

ผู้ใหญ่ ในวันแรกที่เริ่มใช้ยา รับประทานยาโพซาโคนาโซลชนิดน้ำ 100 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน ในวันต่อไป รับประทานยา โพซาโคนาโซลชนิดน้ำ 100 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน และใช้ติดต่อกันจนครบ 13 วัน

เด็ก ในวันแรกที่เริ่มใช้ยา เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป รับประทานยาโพซาโคนาโซลชนิดน้ำ 100 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน ในวันต่อไป รับประทานยาโพซาโคนาโซลชนิดน้ำ 100 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน และใช้ติดต่อกันจนครบ 13 วัน
โรคเชื้อราในช่องปากกรณีที่เกิดเชื้อไม่ตอบสนองต่อยาชนิดอื่น

ตัวอย่างการใช้ยา Posaconazoe เพื่อรักษาโรคเชื้อราในช่องปาก ในกรณีที่เชื้อดื้อต่อยาไอทราโคนาโซลหรือยาฟลูโคนาโซล

ผู้ใหญ่ รับประทานยาโพซาโคนาโซลชนิดน้ำ 400 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน โดยระยะเวลาการรักษาอาจขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาและโรคประจำตัวอื่น ๆ

เด็ก เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป รับประทานยาโพซาโคนาโซลชนิดน้ำ 400 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน โดยระยะเวลาการรักษาอาจขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาและโรคประจำตัวอื่น ๆ
การใช้ยาโพซาโคนาโซล

ยา Posaconazole โพซาโคนาโซลมีวิธีการใช้และข้อควรรู้ ดังนี้

    อ่านใบกำกับยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
    รับประทานยาในปริมาณที่แพทย์กำหนด ห้ามลดหรือเพิ่มปริมาณยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์
    รับประทานยาให้ครบตามระยะเวลาการรักษาที่แพทย์กำหนด หากรับประทานไม่ครบตามจำนวนอาจส่งผลให้เชื้อในร่างกายอาจดื้อยาได้
    ยาโพซาโคนาโซลชนิดเม็ด ควรรับประทานทั้งเม็ดในคราวเดียว ห้ามบด เคี้ยว หรือละลายยา
    ยาโพซาโคนาโซลชนิดน้ำ ควรเขย่าขวดยาเพื่อให้ยากระจายตัวเสมอกันก่อนการตวงวัดเพื่อรับประทาน
    ยาโพซาโคนาโซลควรรับประทานร่วมกับมื้ออาหาร หรือการให้สารอาหารผ่านทางหลอดเลือดในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้
    ยาโพซาโคนาโซลไม่สามารถรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสได้
    ตรวจเลือดอยู่เป็นประจำ ในช่วงการรักษาด้วยยานี้
    ในกรณีที่ลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าหากเวลาของการใช้ยาครั้งถัดไปน้อยกว่า 12 ชั่วโมง ให้ข้ามไปใช้ยาครั้งถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา
    ยา Posaconazole รูปแบบฉีด ควรเก็บไว้ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส รูปแบบเม็ดควรเก็บไว้ในอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส และรูปแบบน้ำควรเก็บไว้ในอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ ควรเก็บยาให้ห่างจากความร้อน และห้ามนำยาแช่ช่องแข็ง

ผลข้างเคียงของยาโพซาโคนาโซล

การใช้ยาโพซาโคนาโซลอาจมีผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดท้อง มีปัญหาในการนอนหลับ แร่ธาตุโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เป็นต้น แม้ว่าจะเป็นผลข้างเคียงทั่วไป แต่ถ้าหากอาการไม่ทุเลาหรือรุนแรงขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์

ทั้งนี้ หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงหลังจากการใช้ยาโพซาโคนาโซล ดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

    อาการแพ้ยา เช่น หายใจติดขัด ลมพิษ ใบหน้า ปาก และลำคอบวม เป็นต้น
    ผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ เหนื่อยล้าโดยไม่ทราบสาเหตุ ตะคริว เท้าบวม หายใจสั้น อ่อนแรง อารมณ์เปลี่ยนแปลง มีไข้ หนาวสั่น เกิดรอยช้ำหรือเลือดออกง่ายกว่าปกติ มีเลือดออกบริเวณช่องคลอด
    ผลข้างเคียงรุนแรงที่ต้องการการรักษาทันที หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ เวียนศีรษะ หน้ามืดอย่างรุนแรง และหมดสติ
    ผลข้างเคียงรุนแรงที่พบได้ยากซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทารก ตาเหลือง ตัวเหลือง ซึ่งเป็นอาการของดีซ่าน คลื่นไส้ตลอดเวลา ปัสสาวะสีคล้ำ ปวดท้องอย่างรุนแรง