ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตกในทารกแรกเกิด (Hemolytic anemia of the n  (อ่าน 5 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 518
  • ลงโฆษณาฟรี ประกาศขายสินค้าออนไลน์ ซื้อขายแลกเปลี่ยน
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตกในทารกแรกเกิด (Hemolytic anemia of the newborn)

เม็ดเลือดแดงแตกในทารกแรกเกิด,โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตกในทารกแรกเกิด,อีริโทรบลาสโตซิสฟีทาลิส,Erythroblastosis Fetalis

โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตกในทารกแรกเกิด (อีริโทรบลาสโตซิสฟีทาลิส-Erythroblastosis Fetalis ก็เรียก) เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก

ภาวะนี้มักพบในทารกที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่มีหมู่เลือดคนละหมู่กับทารกในครรภ์ ทำให้หมู่เลือดเข้ากันไม่ได้ (blood group incompatability) เป็นเหตุทำให้เม็ดเลือดแดงของทารกถูกทำลายให้แตกสลาย

ในบทนี้จะกล่าวถึงการเข้ากันไม่ได้ของหมู่เลือดอาร์เอช (Rh incompatability) ซึ่งมักมีอาการรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง

โรคนี้จะเกิดเฉพาะกับทารกที่มีมารดามีหมู่เลือดอาร์เอชลบและมีบิดามีหมู่เลือดอาร์เอชบวก และทารกมีหมู่เลือดอาร์เอชบวกตามบิดา* หากมารดามีหมู่เลือดอาร์เอชบวก (โดยบิดามีหมู่เลือดอาร์เอชบวกหรือลบ) หรือบิดามีหมู่เลือดอาร์เอชลบ (โดยมารดามีหมู่เลือดอาร์เอชบวกหรือลบ) ทารกที่เกิดมาจะไม่เป็นโรคนี้

ทารกที่เป็นโรคนี้บางรายอาจมีประวัติว่ามารดามีบุตรคนก่อนที่มีอาการซีดเหลืองตั้งแต่แรกเกิดและต้องทำการถ่ายเลือด

*หมู่เลือดอาร์เอช จัดเป็นหมู่เลือดชนิดพิเศษ อาร์เอช (Rh) หมายถึง Rh factor (Rhesus factor) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ที่พบอยู่บนผิวของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดแดงที่มีโปรตีนชนิดนี้เรียกว่า "หมู่เลือดอาร์เอชบวก (Rh positive)" เม็ดเลือดแดงที่ไม่มีโปรตีนชนิดนี้ เรียกว่า "หมู่เลือดอาร์เอชลบ (Rh negative)" โปรตีน (Rh factor) ถือเป็นแอนติเจน (หรือสิ่งแปลกปลอม ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นเชื้อโรค) หากเข้าสู่ร่างกายของผู้ที่มีหมู่เลือดอาร์เอชลบ ก็จะสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ขึ้นทำลายสิ่งแปลกปลอมนี้

ทั้งนี้ การมีหมู่เลือดอาร์เอชบวกหรือลบถูกกำหนดจากพันธุกรรม ซึ่งมีลักษณะเป็นพันธุกรรมเด่น หมายความว่า หากมีบิดาหรือมารดาเพียงคนใดคนหนึ่งที่มีหมู่เลือดอาร์เอชบวก บุตรที่เกิดมาก็มักจะมีหมู่เลือดอาร์เอชบวก

ในบ้านเราพบผู้ที่มีหมู่เลือดอาร์เอชบวกเป็นส่วนใหญ่ พบผู้ที่มีอาร์เอชลบเพียงร้อยละ 0.3 (3 คนต่อประชากร 1,000 คน)

สาเหตุ

มีสาเหตุมาจากหมู่เลือดอาร์เอชของทารกและมารดาเข้ากันไม่ได้ (Rh incompatability) เนื่องจากมารดาที่มีเลือดอาร์เอชลบ และระหว่างการตั้งครรภ์ครั้งแรกมีทารกที่มีเลือดอาร์เอชบวก (จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมมาจากบิดาที่มีหมู่เลือดอาร์เอชบวก) หากมารดามีเหตุบังเอิญ (เกิดขึ้นขณะคลอดหรือแท้งบุตร) ทำให้มีเลือดทารกปนเปื้อนเข้าไปในเลือดของมารดา มารดาก็จะสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อเม็ดเลือดแดงของทารก ซึ่งจะอยู่ในเลือดของมารดา

และในการตั้งครรภ์ครั้งต่อ ๆ มา หากทารกในครรภ์มีหมู่เลือดอาร์เอชบวกอีก สารภูมิต้านทานดังกล่าวในเลือดมารดาจะผ่านรกเข้าไปทำลายเม็ดเลือดแดงในทารกระหว่างที่อยู่ในครรภ์ เป็นสาเหตุทำให้ทารกมีภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และคลอดออกมาก็มีอาการซีดเหลืองตั้งแต่แรกเกิด

นอกจากนี้ สารภูมิต้านทานต่อเม็ดเลือดแดงอาร์เอชบวกดังกล่าว ยังอาจเกิดจากมารดาเคยได้รับการถ่ายเลือดที่มีหมู่เลือดอาร์เอชบวก เมื่อตั้งครรภ์มีทารกในครรภ์ที่มีหมู่เลือดอาร์เอชบวก ก็ทำให้ทารกเกิดภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตกได้เช่นกัน


อาการ

ทารกมีอาการซีด และตาเหลือง ตัวเหลือง ซึ่งเกิดขึ้นภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังคลอด (หรือไม่เกิน 48 ชั่วโมงหลังคลอด) ตับและม้ามอาจโต

ถ้าตัวเหลืองมาก อาจทำให้ซึม ไม่ดูดนม หรือเกิดภาวะสารบิลิรูบินสะสมในสมอง (kernicterus) สมองพิการได้


ภาวะแทรกซ้อน

ที่สำคัญ คือ ภาวะสารบิลิรูบินสะสมในสมอง (kernicterus)* ทำให้ทารกเกิดอาการชัก โรคสมองพิการ หูหนวก และอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ทารกเสียชีวิตได้

*บิลิรูบิน (สารสีเหลือง) เกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง ทารกที่มีภาวะเม็ดเลือดแดงแตกจะมีระดับบิลิรูบินในเลือดสูง (hyperbilirubinemia) ทารกจะมีอาการตาเหลืองตัวเหลืองจัด สารบิลิรูบินจำนวนมากจะเข้าไปสะสมในเนื้อสมอง


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย โดยตรวจพบภาวะซีด ตัวเหลือง ตาเหลือง ตับโต ม้ามโต

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือดจากสายสะดือของทารก (ดูหมู่เลือดเอบีโอ และเลือดอาร์เอชบวก/ลบ, สารภูมิต้านทาน, จำนวนเม็ดเลือดแดง) ตรวจเลือดของทารก (ดูระดับบิลิรูบินในเลือด)


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล อาจต้องให้เลือด ทำการบำบัดด้วยแสง (phototherapy คือการส่องด้วยแสงไฟนีออนของหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ หรือแสงสีน้ำเงิน)

ถ้าเป็นรุนแรงอาจต้องทำการเปลี่ยนถ่ายเลือด (exchange transfusion) รวมทั้งการฉีดสารอิมมูนโกลบูลินเข้าหลอดเลือดดำ (intravenous immunoglobulin/IVIG เพื่อลดการทำลายเม็ดเลือดแดง และลดระดับบิลิรูบินในเลือด)

ผลการรักษา การรักษาได้ทันการณ์ช่วยให้หายเป็นปกติและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้


การดูแลตนเอง

หากพบทารกแรกเกิดมีอาการซีดและตาเหลือง ตัวเหลือง ควรพาไปพบแพทย์โดยเร็ว

เมื่อตรวจพบว่ามีภาวะเม็ดเลือดแตก ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


การป้องกัน

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ตรวจพบว่ามีหมู่เลือดอาร์เอชลบ แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยและหาทางป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ในทารก โดยฉีดสารอาร์เอชโกลบูลิน (Rh immunoglobulin/RhIG) ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้มารดาสร้างสารภูมิต้านทานที่ทำลายเม็ดลือดแดงของทารก แพทย์จะฉีดสารนี้เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์ และฉีดอีกครั้งภายใน 72 ชั่วโมงหลังคลอดทารกที่มีหมู่เลือดอาร์เอชบวก


ข้อแนะนำ

1. ทารกแรกเกิดทุกรายควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากพบมีอาการผิดสังเกต เช่น ซีด ตาเหลือง ตัวเหลือง ซึม ไม่ดูดนม ควรพาไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ

2. โรคนี้มักเกิดขึ้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ ซึ่งหากรุนแรงทารกมีโอกาสตายในครรภ์ ปัจจุบันแพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคนี้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ ช่วยให้ทารกอยู่รอดปลอดภัยได้มากขึ้น