เบาหวานเป็นภาวะเรื้อรังของการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเกิดการความบกพร่องของการสร้างอินซูลิน หรือของการทำงานของอินซูลิน หรือทั้งสองกรณี โรคเบาหวานมักจะเกี่ยวพันกับโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงหลายโรคและอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร อย่างไรก็ตามผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานสามารถที่จะดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นได้
ชนิดของเบาหวาน
เบาหวานชนิดที่ 1 เป็นชนิดพึ่งอินซูลิน (IDDM)
เบาหวานชนิดที่ 1 นี้ พบประมาณ 5-10% ของโรคเบาหวานทุกประเภท ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 1 นั้นมีน้อยกว่าเบาหวานชนิดที่ 2 ปัจจัยที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะเบาหวานชนิดที่ 1 ได้แก่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง พันธุกรรม และสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย
เบาหวานชนิดที่ 2 คือชนิดไม่ต้องพึ่งอินซูลิน (NIDDM)
เบาหวานชนิดที่ 2 นี้ พบเป็นจำนวน 90-95% ของจำนวนโรคเบาหวานทุกชนิด ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานประเภทนี้ได้แก่ อายุที่มากขึ้น ความอ้วน บุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นเบาหวาน ประวัติการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความต้านทานต่อกลูโคสต่ำ ร่างกายไม่เคลื่อนไหว เชื้อชาติ ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ มีประวัติเคยเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด
เบาหวานที่เกิดในช่วงตั้งครรภ์
เกิดขึ้น 2-5% ของจำนวนหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่พบหลังการคลอดบุตรแล้ว ผู้หญิงที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นของการพัฒนาที่จะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มีงานวิจัยกล่าวไว้ว่า ร้อยละ 40 ของผู้หญิงที่มีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะพัฒนาเป็นเบาหวานได้ในอนาคต
เบาหวานชนิดพิเศษอื่นๆ มีผลจากความผิดปกติทางพันธุกรรม การผ่าตัด ยาเสพย์ติด ภาวะขาดสารอาหาร การติดเชื้อ และความเจ็บป่วยอื่นๆ เบาหวานชนิดนี้พบเป็นจำนวน 1-2% ของคนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยโรคเบาวานทั้งหมด
โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวาน
โรคหัวใจ เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตที่สัมพันธ์กับโรคเบาหวาน ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจประมาณ 2-4 เท่าของผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน
ภาวะหัวใจขาดเลือด ความเสี่ยงของโรคภาวะหัวใจขาดเลือดมีจำนวนสูงขึ้น 2-4 เท่าของคนที่เป็นโรคเบาหวาน
ความดันโลหิตสูง ประมาณร้อยละ 60-65 ของคนที่เป็นโรคเบาหวานจะมีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย
ตาบอด เบาหวานเป็นสาเหตุหลักของผู้ป่วยรายใหม่ที่ตาบอดเนื่องจากโรคเบาหวานในผู้ที่มีอายุ 20 - 74 ปี
โรคไต เบาหวานเป็นสาเหตุหลักของโรคไตวายระยะสุดท้าย และคิดเป็นร้อยละ 40 ของผู้ป่วยรายใหม่ของโรคไตวายเรื้อรัง
โรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท ประมาณร้อยละ 60-70 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานมักเกิดการทำลายระบบประสาทขั้นปานกลางถึงรุนแรง (รวมถึงประสาทความรู้สึกบกพร่องหรือความเจ็บปวดที่มือหรือเท้า ระบบย่อยอาหารผิดปกติ อาการพังผืดที่ข้อมือ (CTS) และอื่นๆ) โรคทางระบบประสาทจากเบาหวานขั้นรุนแรงเป็นสาเหตุสำคัญของการตัดเท้าหรือขา
การตัดอวัยวะ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งจะต้องตัดขาหรือเท้าทิ้ง
โรคเกี่ยวกับฟัน สำหรับผู้ป่วยเบาหวานนั้น มีโอกาสมากที่จะเป็นโรคปริทันต์ (โรคเหงือกอักเสบชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสาเหตุของการสูญเสียฟัน) และมีอาการค่อนข้างรุนแรง
โรคแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดของทารกจากมารดาที่มีโรคเบาหวานจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่ได้รับการเตรียมพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ประมาณร้อยละ 0-5 ส่วนผู้หญิงที่ไม่ได้รับเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์จะมีอัตราการเกิดภาวะความผิดปกติดังกล่าวประมาณร้อยละ 10
โรคแทรกซ้อนอื่น
เบาหวานอาจเป็นสาเหตุของเหตุการณ์ที่รุนแรงและฉับพลัน เช่น ภาวะการเสียสมดุลของอินซูลิน* (diabetic ketoacidosis) และ ภาวะโคม่าจากน้ำตาลในเลือดสูง* (hyperosmolar hyperglycemic state)
ผู้ป่วยเบาหวานที่มีการควบคุมดูแลไม่ดีจะมีการติดเชื้อได้ง่าย
*ภาวะการเสียสมดุลของอินซูลิน (diabetic ketoacidosis) และ ภาวะโคม่าจากน้ำตาลในเลือดสูง (hyperosmolar hyperglycemic state) เป็นภาวะที่อาจมีผลจากระดับกลูโคสสูงและความไม่สมดุลของชีวเคมีในเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมได้
หลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคเบาหวาน
วิธีการตรวจวินิจฉัยที่ใช้กันทั่วไปสำหรับการตรวจเบาหวานก็คือการวัดระดับกลูโคสในพลาสมา (Fasting plasma glucose : FPG) อย่างไรก็ตามแพทย์อาจเลือกใช้การวัดความทนทานน้ำตาลกลูโคส (Oral glucose tolerance test: OGTT) ก็ได้
วินิฉัยว่าเป็นเบาหวานเมื่อมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL) ขึ้นไป **
ผลการสุ่มวัดระดับกลูโคสในพลาสมา (nonfasting plasma glucose) โดยไม่มีการอดอาหารที่มีค่าตั้งแต่ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL) บ่งชี้ว่าเป็นเบาหวาน
การวัดความทนทานน้ำตาลกลูโคส (โดยให้รับประทานน้ำตาลปริมาณ 75 กรัมที่ละลายในน้ำ แล้ววัดระดับน้ำตาลในเลือด 2 ชั่วโมงหลังจากนั้น) หากมีค่าน้ำตาลตั้งแต่ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL) ขึ้นไปจะบ่งชี้ว่าเป็นเบาหวาน
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ การตรวจเบาหวานอาจต้องใช้วิธีที่แตกต่างไป
**นอกเสียจากว่าอาการแสดงชัดเจน มิฉะนั้นการตรวจพิเศษจะต้องได้รับการยืนยันโดยการตรวจซ้ำในวันอื่นต่อไป
การรักษาโรคเบาหวาน
เป้าหมายของการรักษาก็เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงกับระดับปกติอยู่ตลอดเวลา การฝึกให้จัดการและดูแลตนเองเป็นส่วนสำคัญในการรักษาโรคเบาหวาน รูปแบบการรักษาจะขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย และต้องนำประเด็นด้าน การแพทย์ จิตสังคม (psychosocial) และวิถีการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยมาร่วมใช้ในการรักษาด้วย
การรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้จึงอาจทำให้โรคเบาหวานชนิดที่ 1 นี้ยากต่อการควบคุม การรักษาจึงต้องมีหลักเกณฑ์ต่างๆ ได้แก่ การควบคุมอาหารอย่างระมัดระวัง วางแผนเรื่องการออกกำลังกาย การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง และการฉีดอินซูลินแบบหลายครั้งในหนึ่งวัน (MDI)
การรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 วิธีการรักษาได้แก่การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การตรวจระดับน้ำตาลด้วยตนเอง และในบางกรณีอาจต้องมีการการรักษาด้วยยารับประทานและ/หรือฉีดอินซูลินร่วมด้วย ซึ่งมีผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ประมาณ 40% ที่ต้องฉีดอินซูลินร่วมด้วย
ภาวะ Impaired fasting glucose
ภาวะ Impaired fasting glucose คือภาวะของคนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ยังไม่ถึงระดับที่จัดว่าเป็นเบาหวาน คืออยู่ในระดับ 110 - 125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร นักวิทยาศาสตร์พยายามที่จะเรียนรู้ที่จะทำนายให้ได้ว่าบุคคลเหล่านี้จะกลายเป็นโรคได้อย่างไรและจะสามารถป้องกันการพัฒนาของโรคได้อย่างไรบ้าง
อินซูลินคืออะไร
เบต้าเซลล์ภายในตับอ่อนมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ในแต่ละครั้งที่รับประทานอาหาร เบต้าเซลล์จะผลิตอินซูลินเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายใช้หรือสะสมน้ำตาลที่ได้รับจากอาหาร
สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 นั้น ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ เนื่องจากกลุ่มเซลล์ดังกล่าวถูกทำลาย ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงต้องได้รับการฉีดอินซูลินเพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถนำน้ำตาลจากอาหารที่รับประทานเข้าไปมาใช้ประโยชน์ได้
ส่วนผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นสามารถผลิตอินซูลินได้ แต่ร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลินนั้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงต้องการยาลดการดื้ออินซูลินหรือการฉีดอินซูลินเพื่อให้ร่างกายสามารถนำน้ำตาลมาใช้ประโยชน์ได้
อินซูลินไม่สามารถรับประทานได้ เนื่องจากจะถูกทำลายระหว่างการย่อยอาหารเช่นเดียวกับโปรตีนในอาหาร
อินซูลินแต่ละชนิดแตกต่างกันไปตามวิธีการผลิต ผลต่อร่างกาย และราคา
อินซูลินมี 4 ชนิด จำแนกได้ตาม
อินซูลินเริ่มออกฤทธิ์เมื่อไร
อินซูลินออกฤทธิ์สูงสุดในช่วงใด
ระยะเวลาในการออกฤทธิ์
ยาที่ใช้ในการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2
การรักษาอันดับแรกสำหรับเบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการวางแผนการรับประทานอาหารเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด การลดน้ำหนักตัวลง และการออกกำลังกาย แต่วิธีเหล่านี้อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงใกล้ระดับปกติได้ จึงต้องเข้าสู่การรักษาขึ้นต่อไปคือการใช้ยาเพื่อลดระดับน้ำตาล ยาสองชนิดที่ใช้คือ ยารับประทานและการฉีดอินซูลิน ยาเม็ดรักษาโรคเบาหวานไม่ใช่อินซูลิน
โรคเบาหวาน อาการและการรักษา อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions/278