คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด 19 ในช่วงนี้ ค่อนข้างสร้างความสับสนให้กับประชาชนพอสมควร เราจึงได้รวบรวมข้อมูลและรายละเอียดที่สำคัญ เช่น เราควรรีบไปรับการฉีดหรือไม่ มีโรคประจำตัวฉีดได้ไหม ในประเทศไทยมีตัวไหนให้เลือกบ้าง และมีความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงอะไรที่ควรทราบ เพื่อให้ทุกคนสามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม ภายใต้ข้อมูลที่ชัดเจนและเพียงพอ
ฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้วป้องกันการติดเชื้อโควิดจริงหรือไม่
หากพูดถึงภาพรวมของประสิทธิภาพในการป้องกันโรคแล้ว จะแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด 19 ที่ไม่มีอาการ และ ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด 19 ที่มีอาการ
ตามข่าวที่รายงานถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่เรามักเห็นกันส่วนใหญ่แล้ว เช่น วัคซีนของ Pfizer มีประสิทธิภาพโดยรวมร้อยละ 95 เป็นต้น กรณีนี้จะหมายถึงประสิทธิภาพของการป้องกันโรคที่มีอาการ ในขณะที่การศึกษาประสิทธิภาพการป้องกันโรคแบบไม่มีอาการนั้นยังบอกได้เพียงแนวโน้ม และส่วนมากยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด
จึงสรุปได้ว่า ในปัจจุบัน วัคซีนยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% ผู้เข้ารับการฉีดจึงยังอาจมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้อยู่ เพียงแต่วัคซีนสามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ลดโอกาสที่จะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตได้
วัคซีนโควิด 19 ทั้ง 4 ชนิดหลัก
วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคโควิด 19 ทั้งหมดในปัจจุบัน มีอยู่ 4 ชนิดหลัก ๆ โดยแบ่งจากเทคนิคที่ใช้ในการผลิตวัคซีนโควิด 19 ได้แก่
วัคซีนโควิด 19ชนิดสารพันธุกรรม (mRNA vaccines) เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่เคยใช้กับการพัฒนาวัคซีนป้องกันอีโบล่า สำหรับกรณีโควิด 19 นี้ วัคซีนผลิตขึ้นจากการใช้สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ซึ่งเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย mRNA จะเข้าไปกำกับการสร้างโปรตีนส่วนหนาม (spike protein) ของไวรัสชนิดนี้ แล้วทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตัวนี้ออกมาปัจจุบันมีสองเจ้าที่ใช้เทคโนโลยีนี้คือ BioNTech/Pfizer และ Moderna
วัคซีนโควิด 19 ชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector vaccines) โดยใช้ไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ (ไม่ทำให้เราป่วย) หรือไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก แล้วตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อใช้เป็นพาหะ โดยฝากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เข้าไป ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา วัคซีนประเภทนี้สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี เนื่องจากเลียนแบบให้ใกล้เคียงกับการติดเชื้อตามธรรมชาติ
วัคซีนของ Johnson & Johnson และ Oxford – AstraZeneca รวมถึงวัคซีน Sputnik V ก็ใช้เทคนิคดังกล่าวนี้
วัคซีนโควิด 19 ที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein-based vaccines) จะใช้โปรตีนบางส่วนของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เช่น โปรตีนส่วนหนาม (spike protein) แล้วนำมาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อฉีดเข้าไปแล้วจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา เทคนิคนี้ใช้กันมานานแล้ว เพราะเป็นเทคนิคที่ใช้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนตับอักเสบชนิดบีบริษัทผลิตวัคซีนที่ใช้เทคนิคดังกล่าว เช่น Novavax เป็นต้น
วัคซีนโควิด 19 ชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccines) จะผลิตจากไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่ถูกทำให้ตายแล้วด้วยสารเคมีหรือความร้อน เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส เป็นเทคนิคที่เคยใช้กับการผลิตวัคซีนตับอักเสบเอ หรือวัคซีนโปลิโอ (ชนิดฉีด) มาแล้ว แต่เพราะต้องทำในห้องปฏิบัติการนิรภัยระดับ 3 ทำให้ผลิตได้ช้า และมีต้นทุนการผลิตที่สูงสำหรับวัคซีนที่ใช้เทคนิคดังกล่าว ได้แก่ Sinovac และ Sinopharm
วัคซีนโควิด 19 ที่น่าสนใจในปัจจุบันมียี่ห้ออะไรบ้าง
บริษัทหรือวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติและใช้กันแล้วในหลายประเทศ ได้แก่ Pfizer-BioNTech, Moderna, Gamaleya (Sputnik V), AstraZeneca, Sinovac, และ Sinopharm เป็นต้น โดยมีทั้งชนิดที่ได้รับอนุมัติทะเบียนอย่างสมบูรณ์และชนิดที่ได้รับอนุมัติให้ใช้กรณีฉุกเฉิน
ข้อสังเกตเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 ในปัจจุบัน
ประสิทธิภาพป้องกันอาการรุนแรง จำเป็นที่สุด: แน่นอนว่า ใครก็อยากได้วัคซีนโควิด 19 ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการป้องกันโรค แต่ที่มีความสำคัญเร่งด่วนยิ่งกว่า คือการลดอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การลดโอกาสมีอาการความรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิตหลังจากติดเชื้อ เพราะช่วยให้ผู้ป่วยโควิด 19 สามารถแยกกักตัวและดูแลตัวเองอยู่ที่บ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
ฉีดครั้งเดียว สะดวกกว่า: Johnson & Johnson และ CanSino Biologics เป็นวัคซีนที่หลายคนให้ความสนใจ เนื่องจากไม่ต้องฉีดถึง 2 เข็ม คนไข้ไม่ต้องกลับมาฉีดอีกเป็นเข็มที่สอง
วัคซีนโควิด 19 ประเภท mRNA: เป็นวัคซีนที่ใช้เทคนิคแบบใหม่ มีจุดเด่นในการผลิตได้ง่ายและเร็ว และยังสะดวกในการปรับปรุงเพื่อรองรับสายพันธุ์ของไวรัสได้อีกด้วย แต่โดยทั่วไปแล้ว วัคซีนโควิด 19 ประเภท mRNA จะมีข้อจำกัดในการจัดเก็บและขนส่งมากกว่าวัคซีนชนิดอื่น เนื่องจาก mRNA มักจะถูกทำลายได้ง่าย จึงต้องเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิที่ต่ำ โดยวัคซีนของบริษัท Pfizer สามารถเก็บได้ในอุณหภูมิ 2-8 ˚C และมีอายุได้ 30 วัน (ข้อมูลอัปเดตวันที่ 17 พฤษภาคม 2564) เช่นเดียวกับวัคซีนของบริษัท Moderna
วัคซีนโควิด 19 ที่มีความปลอดภัยต่อผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง:วัคซีนอย่าง Novavax ที่ผลิตขึ้นจากโปรตีนบางส่วนของเชื้อ และวัคซีนที่ผลิตขึ้นจากเชื้อที่ตายแล้ว อย่างเช่น Sinovac, Sinopharm, และ Covaxin มีความปลอดภัยต่อผู้รับวัคซีนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องมากกว่า เนื่องจากไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
วัคซีนที่มีต้นทุนการผลิตสูง: วัคซีนประเภทเชื้อตายนั้น ต้องมีการเพาะเลี้ยงเชื้อในห้องปฏิบัติการระดับสูง (Biosafety level 3) จึงมีต้นทุนสูงกว่าเพื่อน และอาจมีราคาสูงตามไปด้วย เช่น Sinopharm ที่มีการประกาศราคาเบื้องต้นสูงกว่าวัคซีนหลายบริษัท
ผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีนโควิด 19 ที่พบ
มีรายงานพบผู้ฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงขึ้นบ้าง ได้แก่
ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
– กรณีของ AstraZeneca: สำนักงานการแพทย์ยุโรป (EMA) ประกาศว่า มีความเป็นไปได้ว่าวัคซีน AstraZeneca อาจเชื่อมโยงกันกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ภายหลังจากที่พบว่า ผู้ป่วยบางรายในแถบประเทศยุโรปเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก และมีรายงานผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนไม่ได้เพิ่มภาวะการเกิดลิ่มเลือดทั่วไป แต่เป็นการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษ หากเทียบสัดส่วนประชากรที่รับการฉีดแล้ว ถือว่าเป็นสัดส่วนที่พบได้ต่ำมาก ซึ่งยังไม่พบในประเทศไทยและถ้าหากพบก็สามารถรักษาได้ เมื่อเทียบกับถ้าติดเชื้อโควิดจะมีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้มากกว่า และประโยชน์ของการฉีดวัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงและโอกาสเสียชีวิตจากโควิด 19 อีกด้วยมีคำแนะนำสำหรับผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนตัวนี้ว่า หากมีอาการปวดหัวรุนแรง ตาพร่ามัว เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ขาบวม ปวดท้องอย่างต่อเนื่อง มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที
– กรณีของ Johnson & Johnson: พบว่ามีผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ตัวนี้แล้วเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หลังได้รับวัคซีนของ J&J ไปประมาณ 1 สัปดาห์ (ไม่เกิน 3 สัปดาห์) ทำให้บางประเทศตัดสินใจยุติการใช้วัคซีนของ J&J ไป
มีผลข้างเคียงรุนแรงอื่น ๆ อีกหรือไม่?
– AstraZeneca: นอกจากประเด็นเรื่องภาวะลิ่มเลือดอุดตันแล้ว มีรายงานว่า วัคซีน AstraZeneca ทำให้เกิดผลข้างเคียงระดับรุนแรงลักษณะอื่น ๆ ได้ เช่น เป็นไข้สูงกว่า 40 ˚C และพบว่ามีผู้ป่วยรายหนึ่งที่มีอาการไขสันหลังอักเสบหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่สอง
– BioNTech/Pfizer: รายงานกล่าวว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนดังกล่าว 1 ล้านคน มีโอกาสพบผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงประมาณ 4.7 คน และในสหรัฐอเมริกา ยังไม่พบผู้ที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต- Moderna: รายงานกล่าวว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนดังกล่าว 1 ล้านคน มีโอกาสพบผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงประมาณ 2.5 คน และตอนนี้ ในสหรัฐอเมริกายังไม่พบผู้เสียชีวิตโดยตรงจากการฉีดวัคซีน
– Sinovac, Novavax และ Sputnik V: จากการศึกษาในเฟสที่ 3 ยังไม่พบรายงานว่ามีผู้ที่เกิดอาการข้างเคียงร้ายแรง
แม้จะพบว่าวัคซีนโควิด 19 หลายตัวอาจพบกรณีที่เกิดอาการข้างเคียงรุนแรง แต่ก็ยังถือว่าน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เข้ารับการฉีดทั้งหมด และแม้ว่าจะมีรายงานเรื่องการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน แต่หลายหน่วยงานด้านสาธารณสุขระดับโลก ยังคงสนับสนุนให้เดินหน้าฉีดวัคซีนดังกล่าวอยู่ เพราะเมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว การให้ฉีดวัคซีนจะมีประโยชน์มากกว่าการระงับใช้ไปเลย
ศูนย์ข้อมูลโควิด-19: วัคซีนโควิด 19 ความหวังและทางรอดของคนไทย อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/covid-19